บทที่ 4
สรุปท้ายบทที่ 4โครงสร้างแฟ้มข้อมูล ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ลำดับจากหน่วยที่เล็กที่สุด ไปยังหน่วยที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับชั้น ซึ่งประกอบด้วย บิต ไบต์ ฟิลด์ เรคอร์ด ไฟล์ และฐานข้อมูล
แฟ้มข้อมูลหลัก จะจัดเก็บข้อมูลหลักที่มักไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลนักศึกษา และข้อมูลสินค้า
แฟ้มข้อมูลรายการเปลี่ยนแปลง จะใช้เก็บเรคอร์ดข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวประจำวัน เช่น ข้อมูลฝาก/ถอนเงินลูกค้า ข้อมูลการลงทะเบียนของนักศึกษา และข้อมูลขายสินค้า
ฐานข้อมูล เป็นแหล่งรวมของแฟ้มข้อมูลต่าง ๆ โดยจะมีการเชื่อมโยงแฟ้มข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันอย่างมีระบบ และใช้ซอฟต์แวร์ระบบจัดการฐานข้อมูลเป็นตัวจัดการฐานและควบคุมข้อมูลในฐานข้อมูล
แบบจำลองฐานข้อมูล มีหลายชนิดด้วยกัน ประกอบด้วย
1. แบบจำลองข้อมูลลำดับชั้น
2. แบบจำลองฐานข้อมูลเครือข่าย
3. แบบจำลองฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์
4. แบบจำลองฐานข้อมูลเชิงวัตถุ
5. แบบจำลองฐานข้อมูลแบบมัลติไดเมนชั่น
ผู้บริหารฐานข้อมูล มีหน้าที่ดูแลความถูกต้อง และความปลอดภัยของฐานข้อมูล เพื่อให้งานบริการข้อมูลขององค์กรสามารถดำเนินการได้ตามปกติในแต่ละวัน และหากเกิดข้อผิดพลาดในฐานข้อมูลขึ้น ก็จะมีกระบวนการกู้คืน และระบบสำรองข้อมูล นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ประเมินการใช้งานฐานข้อมูลในองค์กร ความเสี่ยง และวางแผนเพื่อรองรับอัตราการเติบโตของฐานข้อมูลในอนาคต
ภาษานิยามข้อมูล ใน SQL ประกอบด้วยกลุ่มคำสั่งที่ใช้สำหรับการสร้างตาราง แก้ไขตาราง ลบตาราง การกำหนดโครงสร้างข้อมูล การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในฐานข้อมูล การกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างตารางและการจัดทำพจนานุกรมข้อมูล
ภาษาจัดการข้อมูล ใน SQL ประกอบด้วยกลุ่มคำสั่งต่างๆ ที่ใช้สอบถามหรือคิวรีข้อมูลจากฐานข้อมูลขึ้นมาใช้งาน รวมถึงการเพิ่มข้อมูลในตาราง การอัปเดตข้อมูลในตาราง และการลบข้อมูลในตาราง
พจนานุกรมข้อมูล ใช้อธิบายข้อมูลหรือเรียกว่า Metadata ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้อธิบายข้อมูลนั่นเอง
แผนภาพอีอาร์ เป็นแบบจำลองที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบ โดยแต่ละเอ็นทิตี้ก็จะมีแอตตริบิวต์ และมีการเชื่อมโยงระหว่างเอ็นทิตี้ด้วยกันผ่านแอตตริบิวต์ที่ระบุเป็นคีย์ สำหรับจุดประสงค์ของอีอาร์ไดอะแกรมก็คือ เป็นแผนภาพที่นำมาใช้เป็นตัวกลางสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ออกแบบและผู้ใช้งาน
ชนิดของฐานข้อมูล ประกอบด้วย
1. ฐานข้อมูลเชิงปฎิบัตการ
2. ฐานข้อมูลแบบกระจาย
3. ฐานข้อมูลภายนอก
4. ฐานข้อมูลไฮเปอร์มีเดีย
คลังข้อมูล คือแหล่งจัดเก็บข้อมูลขององค์กรที่เป็นทั้งข้อมูลจากแหล่งภายในและภายนอก เพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน อีกทั้งข้อมูลที่บรรจุอยู่ในคลัง ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลอดีตที่ถูกจัดเก็บไว้ตามช่วงระยะเวลาซึ่งมักไม่มีการเคลื่อนไหวของข้อมูล
ตลาดข้อมูล มีลักษณะคล้ายกับคลังข้อมูล แต่จะมีขนาดเล็กกว่ามาก โดยจัดเก็บข้อมูลที่มุ่งประเด็นไปยังแผนก หรือกระบวนการธุรกิจ
ระบบการประมวลผลธุรกรรมออนไลน์ นำมาใช้เพื่อปฎิบัติงานประจำวันที่มีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอดังนั้นจึงมุ่งเน้นให้ระบบสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องอยู่ตลอดเวลา สนับสนุนให้ผู้ใช้เข้าถึงฐานข้อมูลได้หลายคน ด้วยการแชร์ฐานข้อมูลร่วมกันในลักษณะมัลติยูสเซอร์
ระบบการประมวลผลเชิงวิเคราะห์ออนไลน์ เป็นระบบที่มุ่งปฎิบัติกับข้อมูลที่ค่อนข้างคงที่ เช่น คลังข้อมูล ซึ่งอาจจัดเก็บไว้ตามช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1 ปี, 3 ปี, หรือ 5 ปี โดยมุ่งเน้นถึงการสอบถามหรือคิวรีข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์แนวโน้มตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ป้อนเข้าไป ด้วยการนำเสนอข้อมูลแบบหลายมิติและยังสนับสนุนการคิวรีข้อมูลแบบซับซ้อนสูง
เหมืองข้อมูล คือซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในคลัง ซึ่งมีความสามารถในการสกัดสารสนเทศ ด้วยการคัดเลือกเฉพาะข้อมูลที่มีคุณค่าออกมาใช้งาน ซึ่งเปรียบเสมือนกับการขุดเหมืองขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ที่มีคุณค่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น